ประวัติโรงเรียน
|
ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมาจารย์หลวงปู่พระไพโรจน์ภัทรธาดา)เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนเทศบาลอินทปัญญา วัดใหญ่อินทาราม โดยเริ่มเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2482โดยใช้ศาลา 9 ห้องเป็นห้องเรียน ซึ่งเดิมเป็นสถานที่สำหรับถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและเป็นที่ชุมนุมพลของพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพ.ศ. 2310 เพื่อกอบกู้เอกราชจากชาติพม่า ในระยะต่อมาได้พัฒนามาเป็นศาลาฟังธรรม ซึ่งเป็นศาลาโล่ง ฝนสาด แดดส่อง พอถึงฤดูหนาว ลมพัดหนาวจัด ครูต้องพานักเรียนออกมาเรียนที่ลานใส่บาตรเพื่ออาศัยความอบอุ่นจากแสงแดด หลวงปู่จึงมีความดำริที่จะก่อตั้งโรงเรียนโดยได้รับความร่วมมือจากพ่อค้า คหบดี ประชาชน และศิษย์เก่า ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2501 จึงเริ่มทำการก่อสร้างอาคารไม้ชั้นเดียว จำนวน 6 ห้องเรียน หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ทาสีมีเสาธงพร้อมนับว่าเป็นอาคารที่งดงามหลังหนึ่งในสมัยนั้น การก่อสร้างไม่ได้ใช้เงินของทางราชการเลย โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอินทปัญญา”(อาคารอินทปัญญา 1 หลังเก่า)ซึ่งมีผู้อุปการคุณคือ ร.ต.อ.ขุนนนท์ เวชนรานุบาล นายวิชัย อูนากูล นายอุทิศ กาลวันตวานิช นายเสรี โสรัจจะ และผู้มีจิตกุศลเป็นผู้ทำการก่อสร้าง ในขณะนั้นโรงเรียนอยู่ในสังกัดกรมสามัญศึกษา เปิดใช้อาคารเรียนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 280 คน ครูจำนวน 5 คน จนกระทั่ง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2506 โรงเรียนได้โอนย้ายมาสังกัดเทศบาลเมืองชลบุรี กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในสมัยที่ นายนารถ มนตเสวี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ขณะนั้นโรงเรียนอินทปัญญา มีจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นจนต้องนำนักเรียนบางส่วนไปเรียนที่ศาลาเก้าห้องอย่างเดิม
ปัจจุบันโรงเรียนเทศบาลอินทปัญญา วัดใหญ่อินทารามมีอาคารเรียน 5 หลัง ห้องเรียนจำนวน 46 ห้องเรียน แบ่งเป็น
- ระดับปฐมวัย จำนวน 12 ห้อง
- ระดับประถมศึกษา จำนวน 28 ห้อง
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 6 ห้อง
และห้องสนับสนุนการเรียนจำนวน 23 ห้องเรียน ปัจจุบัน มีนางรังสิมา พิทักษ์วาปีเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา
จำนวนครูประจำการ 56 คน นักการภารโรง 2 คน บุคลากรสนับสนุนการสอน 4 คนจำนวนนักเรียน 1,573 คน
สถานที่ตั้ง 858/10 ถนนเจตน์จำนง ต.บางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี รหัสไปรษณีย์ 20000 โทร.038 - 282533
บนเนื้อ ที่ 3 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินของวัดใหญ่อินทาราม พระอารามหลวง
วิสัยทัศน์ โรงเรียนเทศบาลอินทปัญญา วัดใหญ่อินทาราม มีคุณภาพ ได้มาตรฐานการศึกษาชาติ โดยการบริหารแบบมีส่วนร่วม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาโรงเรียน “การศึกษาคือชีวิต”
คติพจน์ “สุวิชาโน ภวํ โหติ ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ ”
คำขวัญ “ ธรรมะ ดนตรี กีฬา วิชาการ พัฒนางานโรงเรียน ”
สีประจำโรงเรียน เหลือง - แดง
|